วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความเป็นมาและความหมายของเทคโนโลยีการศึกษา


 คำว่า เทคโนโลยี ถูกนำมาใช้ในทุกวงการ เช่น ในวงการแพทย์ เรียกว่า เทคโนโลยีการแพทย์ (Medical Technology) นำมาใช้ทางการเกษตร เรียกว่า เทคโนโลยีการเกษตร(Agricultural Technology) นำมาใช้ทางการอุตสาหกรรม เรียกว่า เทคโนโลยีการอุตสาหกรรม(Industrial Technology) นำมาใช้ทางการสื่อสาร เรียกว่า เทคโนโลยีการสื่อสาร (Communication Technology) และนำมาใช้ในวงการอื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งนำมาใช้ในวงการศึกษา ที่เรียกว่า เทคโนโลยีการศึกษา (Educational Technology)


     เทคโนโลยีการศึกษา (Educational Technology) ตามรูปศัพท์เทคโน (วิธีการ) + โลยี(วิทยา) หมายถึง ศาสตร์ที่ว่าด้วยวิธีการทางการศึกษา ครอบคลุมระบบการนำวิธีการมาพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพของการศึกษาให้สูงขึ้น เทคโนโลยีทางการศึกษาครอบคลุมองค์ประกอบ 3 ประการ คือ วัสดุอุปกรณ์และวิธีการ สภาเทคโนโลยีการศึกษานานาชาติได้ให้คำจำกัดความของเทคโนโลยีการศึกษาว่า เป็นการพัฒนาและประยุกต์ระบบเทคนิคและอุปกรณ์ให้สามารถนำมาใช้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างเสริมกระบวนการเรียนรู้ของคนให้ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับเทคโนโลยีการศึกษา (Educational Technology) เป็นการขยายแนวคิดเกี่ยวกับโสตทัศนศึกษา (Audio Visual Education) ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากโสตทัศนศึกษา หมายถึง การเรียนรู้ผ่านประสาททั้งห้าคือ ตา หูจมูก ลิ้น และการสัมผัส ดังนั้น อุปกรณ์ในสมัยก่อนมักเน้นการใช้ประสาทสัมผัสด้านการฟังและการดูเป็นหลัก จึงใช้คำว่าโสตทัศนูปกรณ์ ส่วนเทคโนโลยีการศึกษามีความหมายที่กว้างกว่า โดยพิจารณาจากความคิดเป็น 2 ประการ คือ
      1. แนวคิดด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ หมายถึง การประยุกต์วิทยาศาสตร์กายภาพในรูปของสิ่งประดิษฐ์เช่น เครื่องฉาย เครื่องเสียง วิทยุวิทยุโทรทัศน์เครื่องคอมพิวเตอร์ ฯลฯ มาใช้สำหรับการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นส่วนใหญ่ การใช้เครื่องมือเหล่านี้มักคำนึงถึงเฉพาะการควบคุมให้เครื่องทำงาน มักไม่คำนึงถึงจิตวิทยาการเรียนรู้ ที่เกี่ยวข้อง ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษาตามความคิดรวบยอดนี้ ทำให้บทบาทของเทคโนโลยีการศึกษาแคบลงไป คือ มีเพียงวัสดุและอุปกรณ์เท่านั้น ไม่รวมวิธีการหรือปฏิกิริยาสัมพันธ์อื่นๆเข้าไปด้วย ซึ่งตามความหมายนี้ก็คือ “โสตทัศนศึกษา” นั่นเอง
      2. แนวคิดด้านพฤติกรรมศาสตร์เป็นการนำแนวคิดและวิธีการทางจิตวิทยา มานุษยวิทยากระบวน การกลุ่ม ภาษา การสื่อความหมาย การบริหาร กลไกการรับรู้มาใช้ควบคู่กับผลิตผลทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม เพื่อให้ผู้เรียนเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นมิใช่เพียงการใช้เครื่องมืออุปกรณ์เท่านั้น แต่รวมถึงวิธีการทางวิทยาศาสตร์และวิธีการทางพฤติกรรมศาสตร์เข้าไปด้วย มิใช่วัสดุหรืออุปกรณ์แต่เพียงอย่างเดียว ปัจจุบันพัฒนาการการจัดการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากเดิมที่ ครู-อาจารย์เป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดให้แก่ผู้เรียนด้วยวิธีการบรรยาย การทำให้ดู (สาธิต, การแสดง ฯลฯ)และผู้เรียนต้องทำหรือปฏิบัติตาม ด้วยคัมภีร์ ตำรา หนังสือเอกสาร กระดานชอล์ก ซึ่งเป็นวิธีการที่ซ้ำซากจำเจเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงบทบาทผู้สอน มาเป็นผู้กระตุ้นส่งเสริมให้ผู้เรียนดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นรายบุคคลหรือกลุ่ม ตลอดจนการจัดระบบการเรียนการสอน โดยอาศัยสื่อโสตทัศนวัสดุ (Audio Visual Material) เป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลการเรียนรู้ ทั้งทางด้าน การพัฒนาความรู้ ความคิด ทักษะและทัศนคติที่ดีต่อการเรียน บนพื้นฐานของจิตวิทยาการเรียนรู้
     วิจิตร ศรีสอ้าน (2529) ให้ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษาว่า หมายถึงการประยุกต์เอาเทคนิค วิธีการ แนวความคิด อุปกรณ์และเครื่องมือใหม่ๆมาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษา ทั้งด้านการขยายงานและด้านการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน ดังนั้น เทคโนโลยีจึงครอบคลุมขอบข่ายสำคัญๆ 3 ประการคือ
1. การนำเอาเครื่องมือและอุปกรณ์ใหม่ๆ มาใช้ประกอบในการเรียนการสอน ได้แก่ การนำเครื่องจักรกลไกและเทคโนโลยีมาใช้ เช่น เครื่องฉายภาพต่างๆ เครื่องเสียงต่างๆ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ
2. การผลิตวัสดุการสอน เช่นภาพถ่าย แผนที่แผนภูมิ รวมถึงเอกสาร ตำรา วัสดุสิ่งพิมพ์และแบบเรียนสำเร็จรูป เป็นต้น
3. การใช้เทคนิคและวิธีการใหม่ๆ นอกจากเครื่องมืออุปกรณ์ และวัสดุการสอนข้างต้นแล้ว เทคโนโลยียังมีขอบข่ายครอบคลุมถึงการใช้เทคนิควิธีการใหม่ๆ ในการเรียนการสอนด้วย เช่น ชุดการเรียนการสอนสำเร็จรูป ศูนย์การเรียน แหล่งการสืบค้น และการจัดตารางสอนแบบยืดหยุ่น การสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น